เอกอุดมพรหมพงศ์เป็นวงศ์เดิม | ศฤงคารเจิมจอมยักษ์หลักลงกา |
จึงต้องศรพรหมาศสังหารสรร | เมื่อวันอันจะสิ้นชีพิตักษัย |
พระราเมศร์ทรงศรสังหารไป | ปักตรึงในอุราพญามาร |
พญาพิเศกตาขาวเข้าประคอง | สุชลนองร้องว่านิจจาเอ๋ย |
น้องได้ทูลแต่หลังไม่ฟังเลย | ชั่งงมเงยเบาความทำลามลวน |
เจ้ากรุงมารว่าจริงแล้วน้องรัก | พี่ชั่วนักเหลือใจมิได้หวน |
ขอสั่งเจ้าจงทำอย่าคร่ำครวญ | เป็นกรรมกวนถึงเวลาก็ท่าตาย |
พี่ขอสั่งฟังโสตโอษฐ์ของพี่ | โอษฐ์หนึ่งนี้เร่งกำหนดและจดหมาย |
เจ้าอยู่หลังอุตส่าห์รักษากาย | เป็นชาติชายไว้ชื่อให้ลือชา |
เป็นวงศ์มารแล้วอย่าหาญให้เกินเหตุ | ถึงทรงเดชโปรดใช้ให้ยศถา |
จงถ่อมตัวให้ดีมีอัชฌา | อย่าเริงร่ารอพักตร์พระจักรี |
จะทูลความสิ่งใดจงใคร่ครวญ | ทูลแต่ความจริงประจักษ์หลักฐานที่ |
ทูลแต่เพียงที่รับส่งฟังคดี | อย่าทูลให้เกินที่มีโองการ |
โอษฐสองตรองให้ดีที่หลีกเลี่ยง | อย่าเอาเยี่ยงเหมือนตัวพี่นี้โวหาร |
ถอดดวงใจฝากไว้แก่นักพรต | ทุกชั้นฟ้าเกรงหมดสยดสยอน |
ใครฆ่าฟันฉันใดไม่ม้วยมรณ์ | เดชขจรเชื่อฤทธิจิตทมิฬ |
ถึงรู้ดีถี่ถ้วนก็ควรจำ | เวลาพล้ำเผลอบ้างก็ยังมี |
สัตว์ที่มีสี่เท้าเดินก้าวย่าง | ยังพลาดบ้างเจ้าจงจำคำพี่ |
อย่าละเลิงหลงเชิงเช่นสตรี | มักเสียทีเพราะหลงพางงไป |
อันตัณหาพาเสียให้เตี้ยต่ำ | แสนระยำตัวพี่นี้เหลวไหล |
อันรูปรสกลิ่นเสียงเห็นเที่ยงใจ | ใครหลงนักมักให้ได้รำคาญ |
โอษฐ์สามสั่งความถึงลงกา | มโหฬาร์แสนสุขสนุกสนาน |
อย่ามีจิตอวดองค์ทะนงศักดิ์ | ให้รู้จักคุณโทษประโยชน์ผล |
ลิงกับยักษ์รักใคร่ที่ไหนมี | เร่งทูลลากลับบุรีแทนพี่ชาย |
เป็นเมืองขึ้นอย่าได้แข็งตะแคงคิด | อย่าแข็งฤทธิ์ผิดท่าพาเสียหาย |
โอษฐ์สี่พี่สั่งจงฟังไว้ | ตัวเป็นใหญ่ใจต้องปองประสงค์ |
ให้เป็นที่พึ่งพักสมัครปลง | ทั้งนายไพร่ให้จงสามัคคี |
ทุกบรรดาข้าเฝ้าเหล่าทหาร | ยศศักดิ์พนักงานตามฐานที่ |
ผู้ใดคิดจงใจรักด้วยภักดี | ควรปราณีเพิ่มยศปรากฎการ |
ผู้ใดผิดจงวินิจตามแบบบท | มีกำหนดเท่าที่เคยเฉลยสาร |
ควรตรวจตรองให้ต้องสำเนานาน | มาตยาพฤฒาจารย์ให้ชอบเชิง |
ตามคัมภีร์ราชศาสตร์บัณญัติบท | ธรรมศาสตร์เป็นกำหนดอย่าหลงเหลิง |
ควรเพิ่มลดบทใดให้ชอบเชิง | ที่ยุ่งเหยิงพังพับอย่าผันแปร |
ที่เห็นมีบทปรากฎแล้ว | ให้เนืองแถวโบราณราชปราชญ์แฉว |
ถ้ามิควรส่วนชอบประกอบแท้ | ควรคัดแก้ให้ประเทืองเรืองจำรูญ |
อันทุกข์นี้มีบทปรากฎชัด | ทุกข์กษัตริย์ทุกข์เจ้าวัดไม่ตัดสูญ |
ทุกข์เจ้าเรือนนี้นะเจ้าเป็นเค้ามูล | ก็อาดูรแม้นละม้ายคล้ายคลึงกัน |
แต่กษัตริย์ครองสมบัตินี้ทุกข์ยิ่ง | สรรพสิ่งใครไม่รู้ดูขัดขัน |
โอษฐห้าว่าทุกข์กษัตริย์นั้น | ทุกข์ทุกสรรพ์ทุกสิ่งจริง ๆ เจ้า |
ทุกข์ตามปรมัตถ์ท่านจัดเอา | ชาติทุกข์นี้นะเจ้าเหมือน ๆ กัน |
ทุกข์ถึงบ้านถึงเมืองไม่เปลื้องขาด | ทุกข์ถึงราษฎร์ทั่วนิเวศน์ทั้งเขตขัณฑ์ |
ทั้งบกเรือเหนือใต้ไพร่ฉกรรจ์ | ต้องลงทัณฑ์เหล่าร้ายให้วายลง |
ต้องจัดตั้งวัดสถานปราการป้อม | ทุกสิ่งพร้อมราชกิจจิตประสงค์ |
ตั้งตำแหน่งแห่งชิดสนิทวงศ์ | ผู้ใดทรงจัดตั้งระวังความ |
ใครผิดชอบกอร์ปด้วยคุณกรุณา | ตั้งอาชาญาโรงชำระดบะถาม |
ทั้งลูกขุนตุลาการชำนาญยาม | รู้เทียมความแคล่วคล่องต้องกระทรวง |
บางทีเพียงชั้นลูกขุนตุลาการ | ไม่อาจหาญชำระได้ต้องให้หลวง |
ถึงตึกลองร้องฎีกาว่าทักท้วง | ถึงในหลวงออกทรงตัดสินเอง |
อันเสี้ยนหนามความร้อนอาณาราษฎร์ | ตามบทบาทอัยการบรรหารเผง |
เมื่อถึงที่ต้องกษัตริย์ทรงตรัสเอง | ต้องชั่งเต็งตรงเที่ยงไม่เอียงเลย |
โอษฐ์หกยกความตามประเภท | ขัตเยศวงศ์ยักษ์หลักเฉลย |
พี่สั่งเจ้าเท่านี้ดังที่เคย | จะชมเชยสิ่งประสงค์จำนงนึก |
บัญญัติองค์จงดีมีสติ | หมั่นดำริแเยบยลกลศึก |
ตามพิชัยสงครามให้ล้ำลึก | ทั้งหัดฝึกทวยหาญให้ชาญชิน |
สรรพเครื่องเรืองฤทธิ์วิทยา | เครื่องยุทธนาอาวุธสิ่งสุดสิ้น |
คู่กรใดอย่าไว้กับนาริน | จะเสื่อมสิ้นเสียทีชีวีวาย |
จะไสยาสน์วังวาสนารีรัก | แต่ควรศักดิ์อย่าให้สิ้นเวลาสลาย |
ตามแบบอย่างขันติวราชาย | บรรทมนั้นพอแต่พอหายคลายอาวรณ์ |
แต่ยามเดียวอย่าเยี่ยงสกุลไพร่ | ที่หลงไหลกามสุขสโมสร |
ภาษิตบทกำหนดนั้นมีว่า | เอกะกายามาสืบนุสนธ์ |
พระราชากษัตริย์บัญญัติตน | ไสยาสน์ลดแน่แต่หนึ่งยาม |
อีกเทวมายาจะบัณฑิตดัง | นักปราชญ์หวังแต่สองไม่ถึงสาม |
เกตุกุฎมพิกาจะแจ้งงาม | นอนยามสามคนมั่งคั่งสิ้นรังแก |
อีกจตุมายาจกะ | สี่ยามนะชนชาญขอทานแน่ |
เพราะไม่มีกิจข้องต้องดูแล | จิตมุ่งแต่นอนกินก็สิ้นกัน |
โอษฐเจ็ดให้สังเกตในข้อนี้ | คำของพี่วันจะสิ้นชีวาอาสัญ |
ไม่ตรงตั้งหวังไฝ่ในอาธรรม์ | จึงผวนผันผิดภาคจากวงศ์ยักษ์ |
โอษฐ์แปดโอ้ว่ะแดดจะอับแสง | ไม่มีแคลงจะพยับดั่งอับฝน |
โอษฐ์เก้าเจ้าลงกาว่าขอบจิต | เราโทษผิดเพราะกรรมทำไฉน |
ครั้นจะอยู่เห็นหน้าระอาใจ | เทพไทก็จะฉินล่วงนินทา |
ไม่ขออยู่ดูหน้าบรรดาบุรุษ | ขอสิ้นสุดชีวังดับสังขาร์ |
ไม่รักชีพขอแต่ชื่อให้ลือชา | แสวงสุขชาติหน้าดีกว่าแฮ |
ถึงตัวเจ้ากับเราไม่ผูกเวร | เพราะเขตเกณฑ์พระศุลีมีกระแส |
โอษฐ์สิบหยิบข้อมาสั่งน้อง | อย่าหมองข้องจิตหมางระคางพี่ |
พี่ขอลาบรรลัยในวันนี้ | ขอฝากพี่เจ้าช่วยเผาเบาแผ่นดิน |
แล้วผันพักตร์สั่งเสนาหมู่ข้าเฝ้า | ฝูงชาวเจ้าอยู่หลังหมดทั้งสิ้น |
ทั้งนายไพร่ทั่วหน้าอย่าราคิน | เร่งผายผินหลักหนีไพรีพาล |
ควรมีสัตย์สุจริตอย่าคิดชั่ว | เจ้านายตัวอย่าได้ก่อข้อล้างผลาญ |
เป็นนายชั้นอันดีมีอัชฌา | เปรียบเหมือนม้าเลิศลักษณ์มีศักดิ์สม |
ถึงควรขับขี่ไปไม่ระบม | เสียงแต่ลมปลายแส้ก็แร่เร็ว |
คบคนดีมีสติต้องตริตรอง | ตามทำนองมิได้เชือนเหมือนชนเหลว |
รู้กิจการร้ายดีมิใช่เลว | รู้การเร็วการช้าการหากิน |
ไม่เกียจคร้านการตัวหรือการนาย | ไม่ทำร้ายสหายมิตรเป็นนิจสิน |
รู้ถ่อมตัวเจียมตนไม่มลทิน | มิได้นินทากล่าวโทษเจ้านาย |
จะพูดจาสารพัดล้วนสัตย์ซื่อ | ควรเชื่อถือไม่สับปลับพูดทับถม |
ไม่ควรกล่าวแล้วไม่กล่าวร้าวคารม | ไม่เงอะงมพูดจาก็น่าฟัง |
ผู้เป็นนายอย่าใจร้ายข่มเหงข้า | ข้อหนึ่งหนาพากันจำในคำสั่ง |
ถ้าใครดีควรมีกรณัง | เมตตาดั่งบุตรตัวให้ทั่วไป |
มิควรเดียดก็อย่าขึ้งให้ถึงขนาด | อย่าร้ายกาจด่าว่าอัชฌาสัย |
จงว่ากล่าวฟังสอนอาวรณ์ใจ | ไม่ควรใช้เรียกมาชี้ให้ดีเชิง |
ใครทำดีควรที่บำเหน็จงาม | ยกย่องตามสมัยอย่าให้เหลิง |
ถ้าทำชอบให้มอบโดยชอบเชิง | อย่าเป็นเพลิงไหม้ป่าพารำคาญ |
ข้อสองตรองเทียบกับตัวเรา | ถ้าเขาคิดว่าน่าสงสาร |
เมื่อมีกิจสิ่งไรจะใช้วาน | อย่าหักหาญเกินที่จะดีเอง |
จงโลมเล้าเอาใจให้ชื่นจิต | ไม่ทันผิดอย่าเพ่อว่าท่าข่มเหง |
เห็นหนักนักจึงค่อยยักไปตามเพลง | ว่าตัวเองทำไม่ไหวงดไว้ที |
ข้อสามตามกาลสงกรานต์ตรุษ | ควรที่หยุดการลาอย่าเคี่ยวเข็ญ |
ปล่อยเล่นบ้างอย่างโบราณท่านว่างเว้น | ยอมให้เล่นสมัยแปลกแจกผ้าปี |
ข้อสี่มีว่าเวลาการ | อย่าหักหาญดูสมัยพอให้สม |
ฝ่ายนายฝ่ายทาสคาดนิยม | ให้ควรชมว่ามีเรือต้องเจือพาย |
เช่นกับว่าเสือเกื้อป่าม้าเกื้อรถ | ตามกำหนดฉุดลากคุณหลากหลาย |
ข้าก็ต้องมีเจ้าบ่าวมีนาย | เรือสิ้นพายแล้วก็สิ้นกระบิลกระบวน |
อาศัยกันเช่นนี้จงมีสติ | จงดำริเห็นใช้ให้สงวน |
เขาก็ชนคนเหมือนกันอย่ารัญจวน | ใครก่อกวนก็อาภัพยับแก่ตัว |
ครั้นสั่งเสร็จเกศกัมบรมนาถ | ว่าข้าบาทนี้ต้องเวรเกณฑ์ชั่ว |
จึงเกิดเป็นยักษ์มารพาลไม่กลัว | รู้สึกตัวขอให้สิ้นมลทินเวร |
เจ้าลงกานบคำนับแล้วหลับเนตร | ก็ล้มเกศดักโศกเกษมศรี |
อาจารย์คิดลองประดิษฐ์ต่อแต่งหวัง | เพื่อได้ฟังอรรถชอบคำตอบถาม |
เพื่อประโยชน์แก่ผู้ต้องทำนองความ | ใคร่หาความดีใส่ตัวหนีชั่วเชิง |
เห็นเยี่ยงอย่างแต่ก่อนท่านสอนไว้ | จึงคิดใคร่ลองจิตคิดถวิล |
พอเป็นที่เทียบความตามระบิล | ใครยลยินคำข้าอย่าถือใจ |