เป็นแบบฉบับบังคับไว้เป็นกลอน | ไม่แคะค่อนว่าไว้ที่ใจจริง |
ชื่อว่าโอวาทกษัตรีย์ | ไว้เป็นที่หลักชัยอันใหญ่ยิ่ง |
เหมือนอาภรณ์ซ้อนใส่ให้เพริดพริ้ง | สำหรับหญิงอันดีมีปัญญา |
จะปฏิบัติสามีเป็นที่รัก | สามิภักดิ์โดยเที่ยงไม่เดียงสา |
การกินการนอนนั้นเป็นใหญ่ | ระวังระไวอย่าได้เมินเฉย |
ของคาวหวานเป็นการของทรามเชย | อย่าละเลยไว้ใจให้ใครทำ |
สตรีย่อมมีมารยาท | จะทำการก็สะอาดไม่ผลีผลำ |
สิ่งใดดีที่ไหนสนใจจำ | ปากคำไม่กระเดื่องให้เคืองใจ |
จัดแจงการเรือนดูรอบคอบ | ถึงทำชอบผัวว่าชั่วก็นิ่งได้ |
รักษาตัวกลัวผิดระวังไว | ตั้งจิตคิดไว้ให้คนชม |
บาลีว่าหญิงดีมีสี่อย่าง | ไม่อำพรางย่อมตรัสบริหาร |
สำแดงไว้ให้เห็นเป็นประธาร | จึ่งพิจารณ์ตามพระพุทธาธิบาย |
หญิงเหล่าหนึ่งเรียกว่า มาตาภริยา | เสน่หาในสามีไม่เหือดหาย |
ปฏิบัติเช้าเย็นไม่เว้นวาย | มิได้หน่ายในการบำรุงบำเรอ |
มารดารักบุตรนั้นฉันใด | เอาใจใส่มิได้แต่งเสนอ |
รักสนิทจิตสมัครสามีเธอ | เทียบเสมอเทียมบุตรในอุทร |
ภคินีภริยานั้นพวกหนึ่ง | เร่งรำพึงคิดร่ำคำที่สอน |
รักสามีเหมือนพี่ร่วมมารดร | โอนอ่อนคำนับน้อมย่อมยำเกรง |
ทาสีภริยาพวกหนึ่งเล่า | ท่านชักเอามาเปรียบเทียบเหมาะเหม็ง |
รักสามีเหมือนนายเงินของตัวเอง | ต้องยำเกรงเช้าเย็นเป็นนิรันดร์ |
สหายิกาภริยาคำรบสี่ | รักสามีดังสหายผ่อนผ่ายผัน |
สงวนอารมณ์มิได้ข่มขี่กัน | สู้อดกลั้นทุกสิ่งจริงฯ เจียว |
หญิงดีสี่ตระกูลที่กล่าวมา | สิ้นชีวาสู่สวรรค์อย่าเฉลียว |
บุญอื่นมิได้สร้างสักอย่างเดียว | กุศลส่งเหนี่ยวแน่วไม่แคล้วเลย |
หญิงใดทำได้เหมือนอย่างว่า | จะลือชาปรากฎยศศักดิ์ศรี |
ทรัพย์สินจะไหลมาดังวารี | จะเปรมปรีดิ์เกษมสุขทุกวันคืน |
คงเป็นเอกอิศรากัญญาหญิง | อันใหญ่ยิ่งล้ำเลิศเฉิดฉัน |
ทั้งศฤงคารบริวารเอนกอนันต์ | ดั่งดาราล้อมจันทรเมื่อวันเพ็ญ |
แม้นทำดีผัวรักไม่หักหาย | ไม่เบื่อหน่ายแหนงจิตคิดโฉงเฉง |
ประพฤติดีจะมีศรีกับตัวเอง | คนทั้งปวงจะยำเยงเกรงกลัว |
ใช่จะแกล้งแต่งไว้ให้ปฎิบัติ | พระบัญญัติสอนไว้เรื่องเมียผัว |
อันสามีเป็นราศีของตัว | เหมือนแหวนหัวจะงามเพราะพานรอง |
หญิงดีจงมีจิตอดสู | พิเคราะห์ดูคำสอนไม่เสกสรรค์ |
ถ้าทำดีๆ จะมีขึ้นทุกวัน | ทำชั่วๆ นั้นจะพูน |
งามอื่นหมื่นแสนสักเท่าใด | ไม่งามเหมือนงามใจไม่แกล้งว่า |
หญิงดีย่อมมีซึ่งอัชฌา | กิริยานั้นเป็นใหญ่ตั้งใจจำ |
ถึงผัวเเคียดอย่าได้สุมคุมตอบ | ผิดชอบจงมีจิตคิดกลืนกล้ำ |
อดเสียได้ไม่อกสูมีผู้ยำ | อย่าขืนคำทุ่มเถียงขึ้นเสียงดัง |
ถึงผัวรักอย่าได้เหลิงระเริงจิต | ระวังผิดจะพานเมื่อภายหลัง |
รักกายสงวนกายระใวระวัง | คนอื่นชังไม่ชั่วเหมือนผัวตน |
ของสิ่งใดใจรู้ว่าผัวรัก | อย่าหาญหักตั้งจิตคิดล้างผลาญ |
ผัวรักรักประกอบจึงชอบการ | ประพฤติได้ไม่รำคาญเคืองอารมณ์ |
ถ้ามีแขกแปลกหน้ามาหาสู่ | ต้อนรับขับสู้เอาใจเขา |
ถึงขึ้งเคียดข้าไทที่ในเรา | ด่าทอเล่าดูเหมือนเทียบเปรียบปราย |
จะพูดจาว่าไรให้พิจารณ์ | ว่าขานอย่าให้ช้ำระส่ำระสาย |
เขาจะค่อนนินทาเป็นท่าอาย | ว่าหญิงร้ายวาจาไม่น่าฟัง |
วาจานั้นเป็นใหญ่จงได้คิด | จะชอบผิดจงไตรตราปรึกษาผัว |
วาจาดีย่อมมีคนเกรงกลัว | วาจาชั่วก็จะมีแต่ที่ชัง |
ขออภัยจะรำพันซึ่งหญิงพาล | ใช่โวหารแกล้งว่าน่าฉงน |
พุทธบรรหารประทานแจ้งยุบล | ให้ปราชน์ยลรู้เชิงกษัตรีย์ |
ภริยาที่ชั่วนั้นมีสาม | พวกหนึ่งนามวัธกาน่าบัดสี |
ใจร้ายหมายจะฆ่าซึ่งสามี | โดยวีธีแยบยลเป็นกลใน |
เหมือนจันทโครบพบโจรป่า | เมียฆ่าด้วยอุบายตายแล้วหนี |
รักโจรป่าแกล้งให้ฆ่าซึ่งสามี | เรื่องนี้ควรนำจำใส่ใจ |
อนึ่งภริยาชื่อว่าอาญานั้น | ดุดันยกตนเป็นคนใหญ่ |
บำราบผัวตัวเองไม่เกรงภัย | จะปราศัยฟังไม่ได้ขึ้นกูเอง |
หนึ่งภริยาชื่อว่าโจรี | เป็นสตรีมายาเที่ยวหาผล |
ชายมั่งมีทำชอบเข้ามอบตน | ซ้อนกลล่อลวงให้ง่วงงวย |
เห็นสมรักยักยอกแล้วปอกทรัพย์ | พอผัวหลับแล้วก็รีบเข้าหยิบฉวย |
แต่งแต่เล่ห์สมคะเนได้ทรัพย์รวย | แล้วก็พวยออกตัวไม่กลัวเกรง |
ใครได้เมียเสียเช่นเป็นดั่งว่า | ดังภูผาทับอกยกไม่ไหว |
เวียนระกำซ้ำจิตเป็นนิตย์ไป | ท่านว่าไว้ก็จริงทุกสิ่งอัน |
อันโจรอื่นหมื่นแสนแม้นหมายลัก | พอยอกยักทุนรอนได้ผ่อนผัน |
อันโจรีภริยาชั่วช้าครัน | ทำเชิงชั้นเล่ห์กลเป็นพ้นตัว |
อันใจความสามภริยานี้ | เห็นที่สุดที่พันผูกจะปลูกฝัง |
หน้าชื่นอกตรมทำอำปลัง | เหลือกำลังที่จะเลี้ยงทำเกี่ยงงอน |
แม้นว่าหญิงผู้ใดชายผู้หนึ่ง | เร่งรำพึงนึกคำที่ร่ำสอน |
ไปข้างหน้าจะหาสู่ที่คู่คอน | จงผันผ่อนเลือกฟั้นให้มั่นคง |
ได้ชั่วช้าก็จะพาให้ตัวชั่ว | จะมัวซัวหมองจิตเป็นพิษสง |
ได้ที่ดีจะเป็นศรีจำเริญทรง | จะสืบวงศ์พ้นจากที่ยากใจ |
นอนก็สายครันตะวันโด่ง | น้ำขอดโอ่งล้างหน้าไม่หาใส่ |
ข้าวปลาใส่บาตรก็ขาดไป | ดัดแต่ไรจับเขม่าทุกเช้าเย็น |
ผัวไปราชการข้างบ้านอยู่ | เอาไพ่คู่ปักกะลิดมาติดเล่น |
มีแต่จะคิดออกนอกประเด็น | ไม่ว่างเว้นเลยที่เจ้าหนี้ทวง |
ที่ดีมีกิริยาผัวมาถึง | ไม่เบื้อนบึ้งบอกกล่าวจัดคาวหวาน |
ทั้งข้าวน้ำกล้ำกลืนให้ชื่นบาน | ต่อสำราญรื่นเริงเชิงสบาย |
จึงค่อยพูดค่อยจากับสามี | แต่โดยดีมิให้ช้ำระส่ำระสาย |
ถ่องแถลงแจงแจกบรรยาย | ตั้งแต่ต้นจนปลายไม่ปิดงำ |
หญิงอย่างนี้ท่านเรียกว่าแม่เรือน | เหมือนมารดารักบุตรอุปถัมภ์ |
ไม่เหนื่อยหน่ายการลำบากสู้ตรากตรำ | สิ่งใดรกก็ต้องจำใจจัดแจง |
บุญไม่หาบบาปไม่หามกรรมเข้าสิง | จึงพูดหยิ่งไปเช่นนี้ไม่มีส่ำ |
พระบาลีชี้แจงแจ้งไม่จำ | สมเหมือนคำบาลีที่มีมา |
ว่าแรงบุญแรงกรรมนั้นล่ำสัน | ทั้งสองแรงแข่งกันนั้นหนักหนา |
ถ้าบุญมากหากบุญนั้นหนุนพา | ถ้ากรรมมากหากจะคร่าไปตามกรรม |
หนึ่งหงส์ประสงค์แต่มุจลินท์ | ลงอาบกินไม่เบื่อจิตคิดอิ่มหนำ |
ชาติสุกรฟอนหาภักษาระยำ | จิตประจำตีแปลงแหล่งอาจม |
หญิงสามานย์สันดานชั่วไม่กลัวผิด | รักแต่ทุจริตคิดหมักหมม |
ฝ่าแต่เช้าทำตัวออกโสมม | ไม่นิยมยลอย่างในทางดี |
เช่นสุวาณพรานพาไปป่ากว้าง | ก็หลงทางไปอยู่กับฤาษี |
ท่าเลี้ยงดูอยู่นั้นเป็นอันดี | วันหนึ่งหนีไปเที่ยวแต่ลำผัง |
พอจวนจบพบพานสิงหราช | ตกใจหวาดวิ่งหนีไม่เหลียวหลัง |
กำลังกลัวตัวสั่นไม่ทันยั้ง | ถึงกระทั่งที่สกดพระสิทธา |
พระนักธรรม์พลันแจ้งในวิญญา | ก็เมตตาตั้งกองกูณฑ์พีธี |
สำรวมฌานผลาญร่างสุนัขชาติ | แปรเป็นรูปสิงหราชไกรสรสีห์ |
ก็เหิมฮึกนึกกำเริบเติบทวี | มิได้มีสัมาคารวะ |
วันหนึ่งเที่ยวไปในไพรป่า | พบนางสิงหราจิตประสงค์ |
ลดเลี้ยวเกี้ยวนางที่กลางดง | หมายปลงเป็นคู่อยู่ครอบครอง |
เขาถามเรื่องเบื้องตระกูลประยูรมา | ก็พาซื่อบอกว่าไม่รู้เลย |
พระดาบสเอามาเลี้ยงแต่ยังเยาว์ | ตัวฉันเล่าไม่ได้ถามความเฉลย |
ครั้นออกปากคิดกระดากไม่เสบย | ด้วยตนเคยเป็นสุนัขแต่ก่อนมา |
นึกเฉลียวฉวยเขาเลี้ยวไปไต่ถาม | พระฤาษีจะแจ้งความไม่กังขา |
จะมิได้ชมดังอารมณ์เจตนา | จำจะฆ่าฤาษีให้สูญความ |
พระดาบสอยู่ในฌาณประมาณรู้ | มีศัตรูปองจะฆ่าให้ตักษัย |
ทำคุณมันมันกลับคิดให้มีภัย | ออกมาได้ร้องว่าอ้ายหมาโซ |
เพศก็กลับฉับเฉี่ยวประเดี๋ยวนั้น | สาสมกันกับที่จิตคิดโง่ ๆ |
สัญชาติหมาคงเป็นหมาอย่าพุโท | ใจมันโอหังฮึกนึกเคอะคะ |
เหมือนหญิงชั่วผัวรักแล้วยกย่อง | ได้สมปองเป็นใหญ่ทำใจเปรอะ |
ไม่ตั้งตัวกลัวกรรมทำเจํอเจ๊อะ | เที่ยวสะเออะลอยหน้าว่าไม่ฟัง |
ก็สมคำโบราณท่านกล่าวไว้ | จงเกรงภัยใจตรองให้หนักหนา |
ให้สุขท่านสุขนั้นจะถึงนา | ให้ทุกข์ท่านเหมือนพาทุกข์ใส่ตัวเอง |
หญิงดีจงมีจิตคิดรัก | อย่าตั้งพักตร์ฝ่าฝืนขืนข่มเหง |
ที่ควรกลัวถึงดีชั่วก็ต้องเกรง | จงยำเยงผู้เฒ่าอย่าเบาความ |
ถึงต่ำชาติวาสนาจะหาไม่ | อย่ามีใจข่มเหงจงเกรงขาม |
ถ้าหยาบช้าครหาจะลามปาม | สงวนงามใส่ตัวให้ผัวชม |
หญิงดีจงมีมโนนำ | ถ้าขืนทำเช่นนี้จะปี้ป่น |
รักษาจริตจิตจำนงเป็นมงคล | จะเป็นผลสืบตระกูลประยูรเอย |
เรื่องที่ทำคำที่ว่ามาทั้งนี้ | ทั้งชั่วดีมีแห่งแหล่งเฉลย |
ใช่เสแสร้งแกล้งว่ามาเปรียบเปรย | เราย่อมเคยรู้เห็นเช่นนี้มา |
ที่ไม่ชอบก็ตอบว่าแนมเหน็บ | แคะได้เก็บมาฝ่ายหญิงค่อนติงว่า |
ที่ชายชั่วสูบฝิ่นกินกัญชา | เสพย์สุราเล่นเบี้ยขายเมียกิน |
ชายที่ชั่วผัวเช่นนี้มีถมไป | นั่นเป็นไรจึงไม่ว่ามาให้สิ้น |
จะแถลงแจ้งความในตามได้ | บุราณท่านว่าไว้ไม่หน่ายหนี |
ทั้งสองฝ่ายชายหญิงสิ่งชั่วดี | ว่าไว้ในที่นี้มีต่อไป |
อันเรื่องราวอันนี้มีมานาน | เป็นข้อเค้าเล่านิทานตำนานไข |
หวังแสดงแจ้งคำสอนน้ำใจ | ทั้งชายหญิงสิ่งไรเป็นมงคล |
จงประพฤติทำตามเนื้อความหลัง | แม้นเชื่อฟังคงเห็นจะเป็นผล |
อันสิรินี้สำหรับบำรุงตน | ถึงยากจนเข็ญใจอย่าได้กลัว |
สิริกำเนิดเกิดผลด้วยปรนนิบัติ | ท่านแจ้งจัดว่าไว้ตรองให้ทั่ว |
ชายหญิงมีปัญหารักษาตัว | หนีชั่วหาความดีให้มีมา |
จงจำคำร่ำว่าที่พาที | ไว้เป็นที่ห้ามใจและสอนใจ |
อาจเห็นคุณและโทษที่โหดร้าย | ระมัดกายตามสอนผ่อนจิตได้ |
เหมือนหนึ่งแว่นแก้วอันแววไว | มาสอดใส่นัยเนตรสังเกตทาง |
จะเห็นทั่วชั่วดีที่ในโลก | จะดับโศกได้สุขให้ทุกข์สว่าง |
ขอเคารพจดจำคำที่แต่ง | บอกให้แจ้งความจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
กาฬปักดิถีเป็นตรีจันทร์ | ปีมะโรงฉอศกสังขยา |
พอสำเร็จเสร็จคำที่ร่ำมา | ขอให้ถาวรคำที่ร่ำเอย |