หน้าเว็บ

26 กุมภาพันธ์ 2552

มงคลชีวิต 2



ยศและลาภ หาบไป ไม่ได้แน่
มีเพียงแต่ ต้นทุน บุญกุศล
ทรัพย์สมบัติ ทิ้งไว้ ให้ปวงชน
แม้ร่างตน เขาก็เอา ไปเผาไฟ
เมื่อเจ้ามา มีอะไร มาด้วยเจ้า
เจ้าจะเอา แต่สุข สนุกไฉน
เจ้ามามื่อเปล่า เจ้าจะ เอาอะไร
เจ้าก็ไป มือเปล่า เหมือนเจ้ามา

มงคลชีวิต

อย่านอนตืนสาย อย่าอายทำกิน
อย่าหมิ่นเงิน อย่าคอยวาสนา
อย่าเสวนากับคนชั่ว อย่ามั่วอบายยมุก
อย่าชิงสุกก่อนห่าม อย่าพล่ามก่อนทำ
อย่ารำก่อนเพลง อย่าข่มเหงผู้น้อย
อย่าคอยแต่ประจบ อย่าคบแต่เศษฐี
อย่าดีแต่ตัว อย่าชั่วแต่ผู้อืน
อย่าฝ่าผืนกฏระเบียบ อย่าเอาเปรียบสังคม
อย่าชื้นชมคนผิด อย่าคิดเอาแต่ได้
อย่าใส่ร้ายคนดี อย่ากล่าววจีมุสา
อย่า่นินทาพระเจ้า อย่าขลาดเขลาเมื่อมีทุกข์
อย่าสุขจนลืมตัว อย่าเกรงกลัวงานหนัก
อย่าพิทักษ์พาลชน อย่าลืมตนเมื่อมังมี

หลัก กาลามสูตร

กาลามสูตร แปลว่า พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ชาวกาลามะ หมู่บ้านเกสปุตติยนิคม แคว้นโกศล (เรียกว่า เกสปุตตสูตร ก็มี) กาลามสูตรเป็นหลักแห่งความเชื่อที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ให้แก่พุทธศาสนิกชน ไม่ให้เชื่อสิ่งใด ๆ อย่างงมงายโดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นจริงถึงคุณโทษหรือดีไม่ดีก่อนเชื่อ มีอยู่ 10 ประการคือ

  1. อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ฟังๆ กันมา
  2. อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ทำต่อๆ กันมา
  3. อย่าเพิ่งเชื่อตามคำเล่าลือ
  4. อย่าเพิ่งเชื่อโดยอ้างตำรา
  5. อย่าเพิ่งเชื่อโดยนึกเดา
  6. อย่าเพิ่งเชื่อโดยคาดคะเนเอา
  7. อย่าเพิ่งเชื่อโดยนึกคิดตามแนวเหตุผล
  8. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะถูกกับทฤษฎีของตน
  9. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะมีรูปลักษณ์ที่ควรเชื่อได้
  10. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะผู้พูดเป็นครูบาอาจารย์ของตน

05 กุมภาพันธ์ 2552

เด็กเอย เด็กน้อย

เด็กเอ๋ย เด็กน้อย
ความรู้ เรายังด้อย เร่งศึกษา
เมื่อเติบใหญ่ เราจะได้ มีวิชา
เป็นเครื่องหา เลี้ยงชีพ สำหรับตน
ได้ประโยชน์ หลายสถาน เพราะการเรียน
จงพากเพียร ไปเถิด จะเกิดผล
ถึงลำบาก ตรากตรำ ก็จำทน
เกิดเป็นคน ควรหมั่น ขยันเอย...

คน คน คน

คนเห็นคน เป็นคน นั่นแหละคน
คนเห็นคน ไม่ใช่คน ใช่คนไม่

กำเนิดคน ต้องเป็นคน ทุกคนไป

จนหรือมี ผู้ดีไพร่ ไม่พ้นคน

ผู้บริหาร

เขามีส่วน เลวบ้าง ช่างหัวเขา
จงเลือกเอา ส่วนที่ดี เขามีอยู่
เป็นประโยชน์ โลกบ้าง ยังน่าดู
ส่วนที่ชั่ว อย่าไปรู้ ของเขาเลย
จะหาคน มีดี โดยส่วนเดียว
อย่ามัวเที่ยว ค้นหา สหายเอ๋ย
เหมือนเที่ยวหา หนวดเต่า ตายเปล่าเลย
ฝึกให้เคย มองแต่ดี มีคุณจริง ฯ

ผู้ประพันธ์ ท่านพระธรรมโฆษาจารย์ พุทธทาส ภิกฺขุ

สุภาษิตสอนใจ

อันความรู้ รู้กระจ่าง เพียงอย่างเดียว
แต่ให้เชี่ยว ชาญเถิด คงเกิดผล
อาจจะชัก เชิดชู ฟูสกนธ์
ถึงคนจน พงศ์ไพร่ คงได้ดี

สุภาษิตสอนใจ ของท่านพระยาศรีสุนทรโวหาร
นิติสารสาธก

04 กุมภาพันธ์ 2552

ผู้รู้ดีเป็นผู้เจริญ

มวลมนุษย์ผู้เปรื่อง ปรีชา เชี่ยวแฮ
เพราะใคร่ศึกษา สิ่งรู้
รู้กิจผิดชอบหา เหตุสอด ส่องนา
นี่แหละบุคคลผู้ เพียบด้วยความเจริญ

มวลผู้ชูปรีชา เสาะวิทยาไม่ห่างเหิน
ผิดชอบกอบไม่เกิน รู้ดำเนินตามเหตุผล
ชื่อว่าปรีชาดี ผิดชอบมีพิจารณ์ยล
ผู้นั้นจักพลันดล พิพัฒน์พ้นจักพรรณนา

ควรเราผู้เยาว์วัย จงใฝ่ใจการศึกษา
อบรมบ่มวิทยา ปรุงปรีชาให้เชี่ยวชาญ
ขั้นนี้จักชี้ว่า มีปัญญาไม่สมฐาน
ต้องหัดดัดสันดาน กอบวิจารณ์ใช้ปัญญา

ของ พระยาอุปกิตศิลปสาร
ใน หนังสือเรียนภาษาไทย ชุดพื้นฐานภาษา
ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ เล่ม ๑ หน้า ๙๔-๙๕

เป็นมนุษย์หรือเป็นคน

เป็นมนุษย์เป็นได้เพราะใจสูง เหมือนนกยูงมีดีที่แววขน
ถ้าใจต่ำเป็นได้แต่เพียงคน ย่อมเสียทีที่ตนได้เกิดมา
ใจสะอาด ใจสว่าง ใจสงบ ถ้ามีครบควรเรียกมนุสสา
เพราะทำถูกพูดถูกทุกเวลา เปรมปรีดาคืนวันสุขสันต์จริง
ใจสกปรกมืดมัวและร้อนเร่า ใครมีเข้าควรเรียกว่าผีสิง
เพราะพูดผิดทำผิดจิตประวิง แต่ในสิ่งนำตัวกลั้วอบาย
คิดดูเถิดถ้าใครไม่อยากตก จงรีบยกใจตนรีบขวนขวาย
ให้ใจสูงเสียได้ก่อนตัวตาย ก็สมหมายที่เกิดมาอย่าเชือนเอย

ของ พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)
จาก หัวข้อธรรมในคำกลอน
ใน หนังสือเรียนภาษาไทย ชุดพื้นฐานภาษา
ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ เล่ม ๑ หน้า ๑๔๐

อนึ่งเวลากิน

อนึ่งเวลากิน จักหุงต้มตามภาษา
อย่าเคียดเตรียดมารดา เจ้าควรมาจัดแจงทำ

หุงต้มตามท่วงที กับนั่นนี่ปิ้งย่างแกงยำ
หน้านวลชวนเชิญทำ อย่างุมงำฉอเลาะไฟ

สุกสรรพสิ้นแล้วแหล้ อย่าเชือนแชเที่ยวค่ำไป
คดค่ายออกให้ไว พาพ่อแม่พี่น้องมา

ยกย้ายให้เขาเข้ามากิน ครบครันสิ้นพรูพร้อมหน้า
กินแล้วเขาแคล้วมา ถ้วนทุกหน้าเขาออกไป

งามสิ้นกินภายหลัง แล้วร้อยชั่งกวาดครัวไฟ
ถ้วยชามหม้อน้อยใหญ่ ลำดับไว้ตามอัชฌา

ครกเบือและสากเบือ อย่าตั้งเพรื่อตกขี้กลา
บวยหวักควรรักษา ไว้ให้ดีตามวิสัย

อย่าได้อุเบกษา หาน้ำท่าดับฟืนไฟ
เสร็จแล้วเจ้าออกไป ชักประตูหับกำชับครัว

จาก วรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ ประเภทคำสอน

อย่านั่งใกล้ถุงเงินคำ

อย่านั่งใกล้ถุงเงินคำ อย่าฟังคำคนล่าย
อย่าจ่ายเงินผิด อย่าติดใจคนบาป
หื้อหาบไปค้า ใคร่เป็นข้าหื้ออยู่ดาย
อย่าขี้คร้านลูกขวาย กินงายแล้วอย่านอน
อย่าเคียดต่อหมู เข้าทบูถวยหมอเจือจาน
รู้การคิงบ่รู้การท่าน อย่าปานใจหมอง
อย่าตีเถียงฟ้า อย่าเล็งม้าเถียงตะวัน
อย่าฟันพร่าเข้าบ้าน อย่าต้านชู้ด้วยเมียท่าน
อย่าทอดไม้จิ่มคนใด อย่าโฟ่ใบ้บ่รู้สัง
อย่าโยะหมา อย่าฆ่าเด็ก
อย่าขวักเหล็กกาปลอม อย่าบดอมปู่เยียะการหนัก
หื้อรักพ่อแม่ หื้อมีแผหลวงหลาย

จากวรรณกรรมล้านนา ปู่เจ้าสอนหลาน (ภาคเหนือ)

ปากใดเกินบ่มีความฮู้

ปากใดเกินบ่มีความฮู้
มักลบหลู่คำมวนจิบหาย
มีอุบายย้อมแดงด้วยหมาก
มันเกิดมามีปากเสียเปล่า
เหมือนปากเต่าปากกุ้งปากหอย
ปากอันใดเฮียนธรรม ฮู้มาก
บ่ลำบากฟังมวนเย็นใจ
ปากนำไผเยือกเย็นคือน้ำ
นักปราชญ์เจ้าย่อย่องว่าดี
ปากมีศรีฮุ่งเฮืองวิลาส
ปากสะอาดคุณล้นบ่ซาม


จาก ประมวลธรรมยอดคำสอน ภาษาไทยกลาง
และภาษาอีสาน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)

ตุ๊ดตู่ในรูกระบอก

ตุ๊ดเอ๋ย ตุ๊ดตู่
ในเรี่ยว ในรู ช่างอยู่ได้
ขี้เกียจ นักหนา ระอาใจ
มาเรียกให้ กินหมาก ไม่อยากคบ
ชาติขี้เกียจ เบียดเบียน แต่เพื่อนบ้าน
การงาน สักนิด ก็คิดหลบ
ตื่นเช้า เราจักหมั่น ประชันพลบ
ไม่ขอพบ ขี้เกียจ เกลียดนักเอย....

(ร้องลำวิลันดาโอด)
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์

วิชาเหมือนสินค้า

วิชาเหมือนสินค้า อันมีค่าอยู่เมืองไกล
ต้องยากลำบากไป จึงจะได้สินค้ามา
จงตั้งเอากายเจ้า เป็นสำเภาอันโสภา
ความเพียรเป็นโยธา แขนซ้ายขวาเป็นเสาใบ
นิ้วเป็นสายระยาง สองเท้าต่างสมอใหญ่
ปากเป็นนายงานไป อัชฌาสัยเป็นเสบียง
สติเป็นหางเสือ ถือท้ายเรือไว้ให้เที่ยง
ถือไว้อย่าให้เอียง ตัดแล่นเลี่ยงข้ามคงคา
ปัญญาเป็นกล้องแก้ว ส่องดูแถวแนวหินผา
เจ้าจงเอาหูตา เป็นล้าต้าฟังดูลม
ขี้เกียจคือปลาร้าย จะทำลายให้เรือจม
เอาใจเป็นปืนคม ยิงระดมให้จมไป
จึงจะได้สินค้ามา คือวิชาอันพิสมัย
จงหมั่นมั่นใจหมาย อย่าได้การวิชา

พระอภัยมณี ตอนที่ ๑๙

พระฟังคำอ้ำอึ้งตะลึงคิด
จะเบือนบิดป้องปัดก็ขัดขวาง
สงสารลูกเจ้าลังกาจึงว่าพลาง
เราเหมือนช้างงางอกไม่หลอกลวง
ถึงเลือดเนื้อเมื่อน้องต้องประสงค์
พี่ก็คงยอมให้มิได้หวง
แต่ลูกเต้าเขาไม่เหมือนคนทั้งปวง
จะได้ช่วงชิงไปให้กระนั้น
พี่ว่าเขาเขาก็ว่ามากระนี้
มิใช่พี่นี้จะแกล้งแสร้งเสกสรรค์
เพราะเหตุเขารักใคร่อาลัยกัน
ค่อยผ่อนผันพูดจาอย่าราคี
แล้วตรัสบอกลูกน้อยกลอยสวาท
เจ้าหน่อเนื้อเชื้อชาติดงราชสีห์
อันรักษาศีลสัตย์กัตเวที
ย่อมเป็นที่สรรเสริญเจริญคน
ทรลักษณ์อกตัญญุตาเขา
เทพเจ้าก็จะแช่งทุกแห่งหน
ให้ทุกข์ร้อนงอนหง่อทรพล
พระเวทมนต์เสื่อมคลายทำลายยศ
เพราะบิดามาด้วยอุศเรนนี้
คุณเขามีมากล้นพ้นกำหนด
เจ้าทำผิดก็เหมือนพ่อทรยศ
จงออมอดเอ็นดูพ่อแต่พองาม

อาขยาน ชวนท่อง "กาพย์เห่ชมเครื่องคาว"

กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานและว่าด้วยงานนักขัตฤกษ์
เห่ชมเครื่องคาว
รัชกาลที่ 5

แกงไก่มัสมั่นเนื้อ.......................นพคุณ พี่เอย
หอมยี่หร่ารสฉุน...........................เฉียบร้อน

ชายใดบริโภคภุญช์.......................พิศวาส หวังนา
แรงอยากยอหัตถ์ข้อน....................อกให้หวนแสวงฯ

มัสมั่นแกงแก้วตา.................หอมยี่หร่ารสร้อนแรง
ชายใดได้กลืนแกง.................... แรงอยากให้ใฝ่ฝันหา

ยำใหญ่ใส่สารพัด.................วางจานจัดหลายเหลือตรา
รสดีด้วยน้ำปลา....................... ญี่ปุ่นล้ำย้ำยวนใจ ตับเหล็กลวกหล่อนต้ม............เจือน้ำส้มโรยพริกไทย
โอชาจะหาไหน........................ไม่มีเทียบเปรียบมือนาง

หมูแนมแหลมเลิศรส.............พร้อมพริกสดใบทองหลาง
พิศห่อเห็นรางชาง.................... ห่างห่อหวนป่วนใจโหย

ก้อยกุ้งปรุงประทิ่น.................. วางถึงลิ้นดิ้นแดโดย
รสทิพย์หยิบมาโปรย.................. ฤๅจะเปรียบเทียบทันขวัญ

เทโพพื้นเนื้อท้อง.................... เป็นมันย่องล่องลอยมัน
น่าซดรสครามครัน.....................ของสวรรค์เสวยรมย์

ความรักยักเปลี่ยนท่า...............ทำน้ำยาอย่างอกงขม
กลอ่อมกล่อมเกลี้ยงกลม............... ชมไม่วายคล้าย

คล้ายเห็น

อาขยาน ชวนท่อง "สักวาดาวจรเข้"

สักวาดาวจรเข้ก็เหหก
ศีรษะตกหันหางขึ้นกลางหาว
เป็นวันแรมแจ่มแจ้งด้วยแสงดาว
น้ำค้างพราวปรายโปรยโรยละออง
ลมเรื่อยเรื่อยเฉื่อยฉิวต้องผิวเนื้อ
ความหนาวเหลือทานทนกมลหมอง
สกุณาดุเหว่าก้เร่าร้อง
พอแสงทองส่องฟ้าขอลาเอย

อาขยาน ชวนท่อง "สังข์ทองตอนนางจันท์เทวีสลักชิ้ฟักเป็นเรื่องราวนางกับพระสังข์"



ชิ้นหนึ่งทรงครรภ์กัลยา .................คลอดลูก ออกมา เป็นหอยสังข์
ชิ้นสองต้องขับเคี่ยวเซซัง ...............อุ้มลูกมายังพนาลัย
ชิ้นสามอยู่ด้วยยายตา ....................ลูกยาออกช่วยขับไก่
ชิ้นสี่กัลยามาแต่ไพร ....................ทุบสังข์ป่นไปกับนอกชาน
ชิ้นห้าบิตุรงค์ทรงศักดิ์ ................ให้รับตัวลูกรักมาจากบ้าน
ชิ้นหกจองจำทำประจาน .............ให้ประหารฆ่าฟันไม่บรรลัย
ชิ้นเจ็ดเพชฌฆาตเอาลูกยา ...........ไปถ่วงลงคงคาน้ำไหล
เป็นเจ็ดชิ้นสิ้นเรื่องอรทัย ..............ใครใครไม่ทันจะสงกา.

“ชนใดไม่มีดนตรีการ ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ เขานั้นเหมาะคิดขบถอัปลักษณ์. . .”

ชนใดไม่มีดนตรีการ ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก
อีกคนใดฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ , เขานั้นเหมาะคิดขบถอัปลักษณ์
หรืออุบายมุ่งร้ายฉมังนัก : มโนหนักมืดมัวเหมือนราตรี ,
และดวงใจย่อมดำสกปรก ราวนรก ชนเช่นกล่าวมานี่
ไม่ควรใครไว้ในในโลกนี้ เจ้าจงฟังดนตรีเถิดชื่นใจ
(ร.๖-เวนิสวาณิช-องก์ ๕-ฉาก ๑)

สวัสดิรักษา

สุภาษิตเรื่อง สวิสดิรักษา สุนทรภู่แต่งถวายสมเด็จเจ้าฟ้าอาภรณ์พระเจ้าลูกยาเธอ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมอบพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นี้ ให้เป็นศิษย์ศึกษาอักษรสมัยในสำนักสุนทรภู่ สันนิษฐานว่า แต่งขึ้นเมื่อปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๖๔ ถึงปี พ.ศ. ๒๓๖๗

สุนทรทำคำสวัสดิรักษา

ถวายพระหน่อบพิตรอิศรา
ตามพระบาฬีเฉลิมให้เพิ่มพูน
เป็นของคู่ผู้มีอิศริยยศ จะปรากฏเกิดลาภไม่สาบสูญ
สืบอายุสุริวงศ์พงศ์ประยูร ให้เพิ่มพูนภิญโญเดโชไชย
ว่าลืมหลงจงอุตส่าห์รักษาสิริ ตามคติโบราณท่านขานไข
ว่าเช้าตรู่สุริโยอโณไทย ตื่นนอนให้ห้ามโมโหอย่างโกรธา
ผินพักตร์สู่บูรพทิศ แลทักษิณ เศกวารินด้วยพระธรรมคาถา
ที่นับถือคือพระไตรสรณา ถ้วนสามคราจึงชำระสระพระพักตร์
แล้วเอื้อนอรรถตรัสความที่ดีก่อน จะถาวรพูนเกิดประเสริฐศักดิ์
ด้วยราศีที่ชะลอนรลักษณ์ อยู่พระพักตร์แต่ทิวาเวลากาล
ยามกลางวันนั้นว่าพระราศี สถิตที่วรองค์ให้สรงสนาน
พระอุระประสุคนธ์วิมลมาลย์ จะสำราญโรคาไม่ราคี
ครั้นพลบค่ำคล้ำฟ้าสุธาวาส ฝ่ายเบื้องบาทซ้ายขวาเป็นราศี
จงรดน้ำชำระซึ่งราคี ห้ามสตรีอย่าให้พาดบาทยุคล
เสวยนั้นผันพระพักตร์ไปบูรพทิศ เจริญฤทธิ์ชันษาสถาผล
แม้นผินพักตร์ทักษิณถิ่นมณฑล ไม่ขาดคนรักใคร่เวียนไปมา
ทิศประจิมอิ่มเอมเกษมสุข บรรเทาทุกข์ปรากฏด้วยยศถา
แต่ทิศเหนือเหลือร้ายวายชีวา ทั้งชันษาซุดน้อยถอยทุกปี ฯ
อนึ่งนั่งบังคลอย่ายลต่ำ อย่าบ้วนน้ำลายพาเสียราศี
ผินพระพักตร์สู่อุดรประจิมดี ไม่ต้องผีคุณไสยพ้นภัยพาล
แล้วสรงน้ำชำระพระนลาฏ จึงผุดผาดผิวพรรณในสัณฐาน
เสด็จไหนให้สรงชลธาร เป็นฤกษ์พารลูบใล้แล้วไคลคลา ฯ
อนึ่งพระองค์ทรงเจริญเพลินถนอม อย่าให้หม่อมห้ามหลับทับหัตถา
ภิรมย์รสอตส่าท์สรงพระคงคา เจริญราศีสวัสดิ์ขจัดภัย ฯ
อนึ่งวันชำระสระพระเกล้า อังคารเสาร์สิ้นวิบัติปัตไถม
ตัดเล็บวันพุธจันทร์กันจังไร เรียนสิ่งใดวันพฤหัสสวัสดี ฯ
อนึ่งภูษาผ้าทรงณรงค์รบ ให้มีครบเครื่องเสร็จทั้งเจ็ดสี
วันอาทิตย์สิทธิโชคโฉลกดี เอาเครื่องสีแดงทรงเป็นมงคล
เครื่องวันจันทร์นั้นควรสีนวลขาว จะยืนยาวชันษาสถาผล
อังคารม่วงช่วงงามสีครามปน เป็นมงคลขัตติยาเข้าราวี
เครื่องวันพุธสุดสีด้วยสีแสด กับเหลือบแปดปนประดับสลับสี
วันพฤหัสจัดเครื่องเขียวเหลืองดี วันศุกร์สีเมฆหมอกออกสงคราม
วันเสาร์ทรงดำจึงล้ำเลิศ แสนประเสริฐเสี้ยนศึกจะนึกขาม
หนึ่งพาชีขี่ขับประดับงาม ให้ต้องตามสีสรรพ์จึงกันภัย ฯ
อนึ่งว่าถ้าจะลงสรงสนาน ทุกห้วยธารเถื่อนถ้ำแลน้ำไหล
พระพักตร์นั้นผันล่องตามคลองไป ห้ามมิให้ถ่ายอุจาร์ปัสสาวะ
อย่าผินหน้าฝ่าฝืนขึ้นเหนือน้ำ จะต้องรำเพรำพัดซัดมาปะ
เมื่อสรงน้ำสำเร็จเสร็จธุระ คำนับพระคงคาเป็นอาจิณ ฯ
อนึ่งวิชาอาคมถมถนำ เวลาค่ำควรคิดเป็นนิจศีล
จึงศักดิ์สิทธิ์ฤทธิรนพ้นไพริน ให้เพิ่มภิญโญยศปรากฎไป ฯ
อนึ่งสุนัขมักเฝ้าแต่เห่าหอน พิ่มอย่าขู่ก่อนด่าว่าอัชฌาลัย
พิ่มเสียสง่าราศีมักมีภัย คนมิได้ยำเยงเกรงวาจา
อนึ่งเขฬะอย่าถ่มเมื่อลมพัด ไปถูกสัตว์เสื่อมมนต์ดลคาถา
อนึ่งพบปะพระสงฆ์ทรงศีลา ไม่วันทาถอยถดทั้งยศทรัพย์
อนึ่งอย่าด่าว่าแดดแลลมฝน อย่ากังวลเร่งวันให้พลันดับ
เมื่อเช้าตรู่สุริยงจะลงลับ จงคำนับสุริยันพระจันทร
อนึ่งเล่าเข้าที่ศรีไสยาสน์ อย่าประมาทหมั่นคำนับลงกับหมอน
เป็นนิรันดร์สรรเสริญเจริญพร คุณบิดรมารดาคุณอาจารย์
อนึ่งผ้าทรงจงนุ่งเหน็บข้างขวา กันเขี้ยวงาจรเข้เดรฉาน
อนึ่งอย่าไปใต้ช่องคลองตะพาน อย่ารอดร้านฟักแฟงแรงราคี
ทั้งไม้ลำค้ำเรือนแลเขื่อนคอก ใครลอดออกอัปลักษณ์เสียศักดิ์ศรี
ถึงฤทธิเดชเวทมนต์ดลจะดี ตัวอัปรีย์แปรกลับให้อัปรา
อนึ่งไปไหนได้พบอสภซาก อย่าออกปากทักทายร้ายนักหนา
ให้สรงน้ำชำระพระพักตรา ตามตำราแก้กันอันตราย ฯ
อนึ่งเครื่องผูกลูกสะกดตะกรุดคราด เข้าไสยาสน์ยามหลับทับฉลาย
เครื่องอาวุธสุดห้ามอย่าข้ามกราย อย่านอนซ้ายสตรีมักมีภัย
อนึ่งวันจันทร์คราสตรุษสารทสูรย์ วันเพ็ญบูรณ์พรรษาอัชฌาสัย
ทั้งวันเกิดเริดร้างให้ห่างไกล ห้ามมิให้เสนหาถอยอายุ
แม้นสตรีมีระดูอย่าอยู่ด้วย ถ้ามิม้วยก็มักเสียจักษุ
มักเกิดมีฝีพองเป็นหนองพุ ควรทำนุบำรุงองค์ให้จงดี
อนึ่งนั้นวันกำเหนิดเกิดสวัสดิ์ อย่าฆ่าสัตว์เสียสง่าทั้งราศี
อายุน้อยถอยเลื่อนทุกเดือนปี แล้วมักมีทุกข์โศกโรคโรคา
อนึ่งบรรทมถ้าลมคล่องทั้งสองฝ่าย พระบาทซ้ายอย่าพาดพระบาทขวา
ข้างขวาคล่องต้องกลับทับซ้ายมา เป็นมหามงคลเลิศประเสริฐนัก ฯ
อนึ่งว่าถ้าจะจรแลนอนนั่ง สำเนียงดังโผงเผาะเกาะกุกกัก
คือคุณผีปีศาจอุบาทว์ยักษ์ ใครทายทักถูกฤทธิ์วิทยา
ขอพระองค์จงจำไว้สำเหนียก ดังนี้เรียกสวัสดิรักษา
สำหรับองค์พงศ์กษัตริย์ขัตติยา ให้ผ่องผาสุกสวัสดิ์ขจัดภัย
บทโบราณท่านทำเป็นคำฉันท์ แต่คนนั้นมิใคร่แจ้งแถลงไข
จึงกล่าวกลับซับซ้อนเป็นกลอนไว้ หวังจะให้เจนจำได้ชำนาญ
สนองคุณมุลิกาสามิภักดิ์ ให้สูงศักดิ์สืบสมบัติพัสถาน
แม้ผิดเพี้ยนเปลี่ยนเรื่องเบื้องโบราณ ขอประทานอภัยโทษได้โปรดเอย ฯ

พิเภกสอนบุตร

โอ้สงสารมารซื่อชื่อพิเภก
โหรารู้ดูดีคัมภีร์เอก เลิศในเลขไตรเทพวิเศษสยา
เมื่อทำนายทายสุบินทศพักตร์ พญายักษ์ขัดเคืองจะเข่นฆ่า
ฯลฯ
อันครั้งนี้พี่จะไปจากไกลแล้ว นางน้องแก้วอยู่หลังระวังหนา
สงวนองค์จงดีมีอัชฌา เลี้ยงลูกยายังเยาว์อย่าเบาความ
อนึ่งนางสาวใช้ในปราสาท ถ้าพลังพลาดเล็กน้อยค่อยไต่ถาม
จงฟังหูไว้หูอย่าวู่วาม พูดให้งามไพร่ผู้ดีมีเมตตา
อย่าถือผิดเป็นชอบประกอบสัตย์ ระวังไว้ในสวัสดิรักษา
เป็นสตรีที่ชั่วทั่วนินทา เหมือนหนึ่งกากีแกมกลกับคนธรรพ์
อีกสมุดตัวทองของในตู้ จงหมั่นดูให้มากทั้งพากย์ฉันท์
แบบฉบับตำรับตำราสารพัน จงผ่อนผันเลือกใช้ที่ได้การ
พิศโฉมเบญกายเสียดายนัก โอ้ลูกรักเป็นกำพร้าน่าสงสาร
อันสตรีด้วยชายหมายประมาณ หญิงข้าวสารชายข้าวเปลือกเกลือกสุธา
เจ้าเป็นบุตรสุดรักของบิตุเรศ ดั่งควรเนตรควรเมืองในเบื้องขวา
เจ้าจงจำถ้อยคำของบิดา จะเจรจาลุกนั่งและนอนเดิน
อิริยาบทสี่เป็นที่ยิ่ง รักษาสิ่งสวัสดีที่สรรเสริญ
สำรวมเนตรสังเกตใจอย่าได้เพลิน นุ่งประเชินห่มเจียมเสงี่ยมจน
สงวนงามยามอับอาภัพญาติ อย่าหมายมาดพึ่งผู้ใดไม่เป็นผล
ฯลฯ
ประโลมตอบวรนุชพระบุตรี เจริญศรีรุ่นทรงเจ้าจงจำ
จะเป็นสาวคราวโศกรักษาศักดิ์ ให้รู้จักชอบผิดคิดข้อขำ
จะเจรจาอย่าให้คนเขาเคืองคำ ถ้าจำทำสิ่งไรให้พินิจ
จะนุ่งผ้าทาแป้งแต่งองค์ พอสมทรงสารพัดอย่าดัดจริต
งามยศมารยาททั้งผาดพิศ อย่าคบมิตรคนพาลสันดานโกง
ฯลฯ
จงตรองเกรงตรึกกริ่งสิ่งศัตรู เจ้าเร่งรู้ระวังองค์ให้จงควร
เป็นสตรีมีศักดิ์ให้บริสุทธิ์
ฯลฯ
เคราะห์ร้ายพายโกรธอย่าโทษใคร โทษเอาใจตัวเองไม่เกรงนาย
จงฝากตัวกลัวผิดที่คิดชอบ ตามระบอบบูราณประมาณหมาย
ข้าดีเพราะบ่าวดีเพราะรักนาย อันตรายนอกในระไวระวัง
จงซื่อสัตย์สามิภักดิ์คอยรักนาย อย่าปองหมายคุมโทษโกรธลับหลัง
ให้รู้เก็บรู้กินสิ้นหรือยัง ถ้านายสั่งทำการอย่าคร้านแช
แม้นนายทุกข์เจ้าอย่าสุขเกษมเสียง จงคอยเคียงนิ่งระวังฟังกระแส
ถ้าอยู่ไกลไม่ทันจะผันแปร ถ้านายใช้อย่าได้แชให้ช้าเชือน
ฯลฯ
ตัวเป็นหญิงสิ่งใดไม่สันทัด ให้เจนจัดกับข้าวทั้งคาวหวาน
ถึงจะเป็นเช่นหม่อมพนักงาน คงโปรดปรานได้ชื่อฝีมือดี
สารพัดหัดให้เจนเป็นวิชา เขาย่อมว่าชาววังช่างบายศรี
รู้ไว้เผื่อเมื่อหน้าได้สามี ถึงเป็นที่ท่านผู้หญิงอย่าทิ้งครัว
ฯลฯ
เป็นหญิงดีมีอัชฌารักษาผัว รู้ฝากตัวชายไม่ร้างนะนางเอ๋ย
แม้นสตรีดีจริงไม่ทิ้งเลย เราก็เคยรู้เช่นได้เห็นเชิง
สอนสิ่งไรที่ชั่วไว้ผัวสอน จงผันผ่อนเช้าค่ำอย่าทำเหลิง
แต่ลำบากยากจนจะป่นเปิง แตกกระเจิงจากผัวเพราะตัวทำ
อย่าโทษชายร้ายชั่วอยู่ตัวหญิง แม้นดีจริงชายคงชุบอุปถัมภ์
คบชายชั่วพาตัวระยับระยำ ถ้าชอกช้ำบุบสลายไม่หายเลย
เป็นนารีที่เจริญบำรุงร่าง จงสำอางเอี่ยมสะอาดฉลาดเฉลย
ฯลฯ
ถ้าทำดีอัชฌาสวามิภักดิ์ ถึงมิรักก็คงจะสงสาร
อย่าพูดมากปากกล้าทำสามานย์ เหมือนประจานหน้าตัวให้มัวมอน
แม้นทำดีมีชื่อบันลือยศ อยู่ปรากฎตัวตายไม่หายหอม
ถ้าทำร้ายชายร้างต้องหมางตรอม จะพาผอมเผือดซูบทั้งรูปทรง
อย่าเล่นตัวจนผัวมีเมียน้อย นั่งตะบอยบ่นบ้าว่าเขาหลง
ถูกเสน่ห์เล่ห์จมอยู่งมงง พาโลหลงโทษชายแต่ฝ่ายเดียว
อันจิตชายหนึ่งรำพึงสอง ตามทำนองนอนนึกตรึกเฉลียว
น้ำมากปลาไม่ตายวายกลมเกลียว สายน้ำเชี่ยวชอบมัจฉาในสาชล
เป็นเมียหลวงหวงหึงเส่น์หา เหมือนพานพาใจรำพึงไม่มีผล
สารพัดป่วยการงานของตน มีผู้คนคอยด่าว่ากระทบ
ทำปากกล้าสามานย์ประจานผัว ไม่ไว้ตัวเมียน้อยจะพลอยตบ
รู้ไกล่เกลี่ยเมียน้อยคอยนอบนบ จงประจบรักผัวของตัวเดิม
ถึงเสียทองเท่าหัวตัวอย่าเสีย ทำไม่เมียเมียน้อยปล่อยให้เหิม
ใครพลั้งพลาดขาดเหลือช่วยเจือเติม จะส่งเสริมสอนให้ชอบค่อยปลอบใช้
อันแม่เรือนเหมือนแมวเมียน้อยหนู ศิษย์กับครูธรรมดาอัชฌาสัย
เราก็จิตคิดดูเล่าเขาก็ใจ รักกันไว้ดีกว่าชังระวังรัก
ถ้าเขาซื่อเราก็ซื่ออย่าถือยศ แม้นเขาคดเราก็คมอยู่ในฝัก
ชอบเชิงใช้ได้เชือดเดือดจึงชัก ให้รู้จักแข็งอ่อนผ่อนปัญญา
ฯลฯ
เป็นสตรีมีศัตรู้ตรองตรึก คะเนนึกอยู่เป็นนิตย์ในจิตหวัง
แม้นเมินหมิ่นมิได้ขาดจะพลาดพลั้ง ชายจะชิงหญิงจะชังชวนเป็นเชิง
ถ้าจะคิดไปข้างทางค้าขาย อย่าเสียดายลมล่อยอให้เหลิง
ซื้อก็ง่ายขายก็คล่องด้วยต้องเชิง ทำรื่นเริงพูดปลอบให้ชอบคำ
หญิงเรียกแม่ชายเรียกพ่อง้อให้ซื้อ ผู้ใดหรือจะไม่ชมว่าคมขำ
ถ้าปากร้ายชายด่าว่าระยำ ฟังน้ำคำแล้วก็เครื่องเคืองระคาย
อันวาจาอัชฌาสัยไม่ลงทุน มีแต่คุณประโยชน์ไม่โหดหาย
ถ้าผู้ผิดคิดไม่ชอบเข้าลอบตาย ทั้งหญิงชายเหมือนกันสำคัญสิ้น
อาวุธใดในพิภพไม่ลบปาก ถึงน้อยมากฟันฟาดขาดเป็นสิน
จะเป็นตายดีร้ายจะขายกิน ในโลกสิ้นสามภพจบเจรจา
ฯลฯ
ขอจบเรื่องเบื้องหลังครั้งพิเภก โหราเอกลือจบสยบสยอง
ข้าพระเจ้าผู้ประดิษฐ์คิดจำลอง ให้คล้องจองผูกกลอนไว้สอนใจ
ฯลฯ
ด้วยของเดิมสั่งสอนกลอนไม่ชัด เราจึ่งจัดบทแบบเข้าแอบแฝง
ให้อ่านง่ายปลายต้นนุสนธ์แสดง นามเราแต่งมหัดชาวังหน้าเอย

ทศกรรฐ์สอนน้อง

ขอยกยศทศกรรฐ์โมหันต์เหิม
เอกอุดมพรหมพงศ์เป็นวงศ์เดิม ศฤงคารเจิมจอมยักษ์หลักลงกา
ฯลฯ
จึงต้องศรพรหมาศสังหารสรร เมื่อวันอันจะสิ้นชีพิตักษัย
พระราเมศร์ทรงศรสังหารไป ปักตรึงในอุราพญามาร
ฯลฯ
พญาพิเศกตาขาวเข้าประคอง สุชลนองร้องว่านิจจาเอ๋ย
น้องได้ทูลแต่หลังไม่ฟังเลย ชั่งงมเงยเบาความทำลามลวน
เจ้ากรุงมารว่าจริงแล้วน้องรัก พี่ชั่วนักเหลือใจมิได้หวน
ขอสั่งเจ้าจงทำอย่าคร่ำครวญ เป็นกรรมกวนถึงเวลาก็ท่าตาย
พี่ขอสั่งฟังโสตโอษฐ์ของพี่ โอษฐ์หนึ่งนี้เร่งกำหนดและจดหมาย
เจ้าอยู่หลังอุตส่าห์รักษากาย เป็นชาติชายไว้ชื่อให้ลือชา
เป็นวงศ์มารแล้วอย่าหาญให้เกินเหตุ ถึงทรงเดชโปรดใช้ให้ยศถา
จงถ่อมตัวให้ดีมีอัชฌา อย่าเริงร่ารอพักตร์พระจักรี
จะทูลความสิ่งใดจงใคร่ครวญ ทูลแต่ความจริงประจักษ์หลักฐานที่
ทูลแต่เพียงที่รับส่งฟังคดี อย่าทูลให้เกินที่มีโองการ
โอษฐสองตรองให้ดีที่หลีกเลี่ยง อย่าเอาเยี่ยงเหมือนตัวพี่นี้โวหาร
ฯลฯ
ถอดดวงใจฝากไว้แก่นักพรต ทุกชั้นฟ้าเกรงหมดสยดสยอน
ใครฆ่าฟันฉันใดไม่ม้วยมรณ์ เดชขจรเชื่อฤทธิจิตทมิฬ
ฯลฯ
ถึงรู้ดีถี่ถ้วนก็ควรจำ เวลาพล้ำเผลอบ้างก็ยังมี
สัตว์ที่มีสี่เท้าเดินก้าวย่าง ยังพลาดบ้างเจ้าจงจำคำพี่
อย่าละเลิงหลงเชิงเช่นสตรี มักเสียทีเพราะหลงพางงไป
อันตัณหาพาเสียให้เตี้ยต่ำ แสนระยำตัวพี่นี้เหลวไหล
อันรูปรสกลิ่นเสียงเห็นเที่ยงใจ ใครหลงนักมักให้ได้รำคาญ
โอษฐ์สามสั่งความถึงลงกา มโหฬาร์แสนสุขสนุกสนาน
ฯลฯ
อย่ามีจิตอวดองค์ทะนงศักดิ์ ให้รู้จักคุณโทษประโยชน์ผล
ฯลฯ
ลิงกับยักษ์รักใคร่ที่ไหนมี เร่งทูลลากลับบุรีแทนพี่ชาย
เป็นเมืองขึ้นอย่าได้แข็งตะแคงคิด อย่าแข็งฤทธิ์ผิดท่าพาเสียหาย
ฯลฯ
โอษฐ์สี่พี่สั่งจงฟังไว้ ตัวเป็นใหญ่ใจต้องปองประสงค์
ให้เป็นที่พึ่งพักสมัครปลง ทั้งนายไพร่ให้จงสามัคคี
ทุกบรรดาข้าเฝ้าเหล่าทหาร ยศศักดิ์พนักงานตามฐานที่
ผู้ใดคิดจงใจรักด้วยภักดี ควรปราณีเพิ่มยศปรากฎการ
ผู้ใดผิดจงวินิจตามแบบบท มีกำหนดเท่าที่เคยเฉลยสาร
ควรตรวจตรองให้ต้องสำเนานาน มาตยาพฤฒาจารย์ให้ชอบเชิง
ตามคัมภีร์ราชศาสตร์บัณญัติบท ธรรมศาสตร์เป็นกำหนดอย่าหลงเหลิง
ควรเพิ่มลดบทใดให้ชอบเชิง ที่ยุ่งเหยิงพังพับอย่าผันแปร
ที่เห็นมีบทปรากฎแล้ว ให้เนืองแถวโบราณราชปราชญ์แฉว
ถ้ามิควรส่วนชอบประกอบแท้ ควรคัดแก้ให้ประเทืองเรืองจำรูญ
อันทุกข์นี้มีบทปรากฎชัด ทุกข์กษัตริย์ทุกข์เจ้าวัดไม่ตัดสูญ
ทุกข์เจ้าเรือนนี้นะเจ้าเป็นเค้ามูล ก็อาดูรแม้นละม้ายคล้ายคลึงกัน
แต่กษัตริย์ครองสมบัตินี้ทุกข์ยิ่ง สรรพสิ่งใครไม่รู้ดูขัดขัน
ฯลฯ
โอษฐห้าว่าทุกข์กษัตริย์นั้น ทุกข์ทุกสรรพ์ทุกสิ่งจริง ๆ เจ้า
ทุกข์ตามปรมัตถ์ท่านจัดเอา ชาติทุกข์นี้นะเจ้าเหมือน ๆ กัน
ทุกข์ถึงบ้านถึงเมืองไม่เปลื้องขาด ทุกข์ถึงราษฎร์ทั่วนิเวศน์ทั้งเขตขัณฑ์
ทั้งบกเรือเหนือใต้ไพร่ฉกรรจ์ ต้องลงทัณฑ์เหล่าร้ายให้วายลง
ต้องจัดตั้งวัดสถานปราการป้อม ทุกสิ่งพร้อมราชกิจจิตประสงค์
ตั้งตำแหน่งแห่งชิดสนิทวงศ์ ผู้ใดทรงจัดตั้งระวังความ
ใครผิดชอบกอร์ปด้วยคุณกรุณา ตั้งอาชาญาโรงชำระดบะถาม
ทั้งลูกขุนตุลาการชำนาญยาม รู้เทียมความแคล่วคล่องต้องกระทรวง
บางทีเพียงชั้นลูกขุนตุลาการ ไม่อาจหาญชำระได้ต้องให้หลวง
ถึงตึกลองร้องฎีกาว่าทักท้วง ถึงในหลวงออกทรงตัดสินเอง
อันเสี้ยนหนามความร้อนอาณาราษฎร์ ตามบทบาทอัยการบรรหารเผง
เมื่อถึงที่ต้องกษัตริย์ทรงตรัสเอง ต้องชั่งเต็งตรงเที่ยงไม่เอียงเลย
โอษฐ์หกยกความตามประเภท ขัตเยศวงศ์ยักษ์หลักเฉลย
พี่สั่งเจ้าเท่านี้ดังที่เคย จะชมเชยสิ่งประสงค์จำนงนึก
บัญญัติองค์จงดีมีสติ หมั่นดำริแเยบยลกลศึก
ตามพิชัยสงครามให้ล้ำลึก ทั้งหัดฝึกทวยหาญให้ชาญชิน
สรรพเครื่องเรืองฤทธิ์วิทยา เครื่องยุทธนาอาวุธสิ่งสุดสิ้น
คู่กรใดอย่าไว้กับนาริน จะเสื่อมสิ้นเสียทีชีวีวาย
จะไสยาสน์วังวาสนารีรัก แต่ควรศักดิ์อย่าให้สิ้นเวลาสลาย
ตามแบบอย่างขันติวราชาย บรรทมนั้นพอแต่พอหายคลายอาวรณ์
แต่ยามเดียวอย่าเยี่ยงสกุลไพร่ ที่หลงไหลกามสุขสโมสร
ฯลฯ
ภาษิตบทกำหนดนั้นมีว่า เอกะกายามาสืบนุสนธ์
พระราชากษัตริย์บัญญัติตน ไสยาสน์ลดแน่แต่หนึ่งยาม
อีกเทวมายาจะบัณฑิตดัง นักปราชญ์หวังแต่สองไม่ถึงสาม
เกตุกุฎมพิกาจะแจ้งงาม นอนยามสามคนมั่งคั่งสิ้นรังแก
อีกจตุมายาจกะ สี่ยามนะชนชาญขอทานแน่
เพราะไม่มีกิจข้องต้องดูแล จิตมุ่งแต่นอนกินก็สิ้นกัน
โอษฐเจ็ดให้สังเกตในข้อนี้ คำของพี่วันจะสิ้นชีวาอาสัญ
ไม่ตรงตั้งหวังไฝ่ในอาธรรม์ จึงผวนผันผิดภาคจากวงศ์ยักษ์
ฯลฯ
โอษฐ์แปดโอ้ว่ะแดดจะอับแสง ไม่มีแคลงจะพยับดั่งอับฝน
ฯลฯ
โอษฐ์เก้าเจ้าลงกาว่าขอบจิต เราโทษผิดเพราะกรรมทำไฉน
ครั้นจะอยู่เห็นหน้าระอาใจ เทพไทก็จะฉินล่วงนินทา
ไม่ขออยู่ดูหน้าบรรดาบุรุษ ขอสิ้นสุดชีวังดับสังขาร์
ไม่รักชีพขอแต่ชื่อให้ลือชา แสวงสุขชาติหน้าดีกว่าแฮ
ถึงตัวเจ้ากับเราไม่ผูกเวร เพราะเขตเกณฑ์พระศุลีมีกระแส
ฯลฯ
โอษฐ์สิบหยิบข้อมาสั่งน้อง อย่าหมองข้องจิตหมางระคางพี่
พี่ขอลาบรรลัยในวันนี้ ขอฝากพี่เจ้าช่วยเผาเบาแผ่นดิน
แล้วผันพักตร์สั่งเสนาหมู่ข้าเฝ้า ฝูงชาวเจ้าอยู่หลังหมดทั้งสิ้น
ทั้งนายไพร่ทั่วหน้าอย่าราคิน เร่งผายผินหลักหนีไพรีพาล
ควรมีสัตย์สุจริตอย่าคิดชั่ว เจ้านายตัวอย่าได้ก่อข้อล้างผลาญ
ฯลฯ
เป็นนายชั้นอันดีมีอัชฌา เปรียบเหมือนม้าเลิศลักษณ์มีศักดิ์สม
ถึงควรขับขี่ไปไม่ระบม เสียงแต่ลมปลายแส้ก็แร่เร็ว
คบคนดีมีสติต้องตริตรอง ตามทำนองมิได้เชือนเหมือนชนเหลว
รู้กิจการร้ายดีมิใช่เลว รู้การเร็วการช้าการหากิน
ไม่เกียจคร้านการตัวหรือการนาย ไม่ทำร้ายสหายมิตรเป็นนิจสิน
รู้ถ่อมตัวเจียมตนไม่มลทิน มิได้นินทากล่าวโทษเจ้านาย
ฯลฯ
จะพูดจาสารพัดล้วนสัตย์ซื่อ ควรเชื่อถือไม่สับปลับพูดทับถม
ไม่ควรกล่าวแล้วไม่กล่าวร้าวคารม ไม่เงอะงมพูดจาก็น่าฟัง
ผู้เป็นนายอย่าใจร้ายข่มเหงข้า ข้อหนึ่งหนาพากันจำในคำสั่ง
ถ้าใครดีควรมีกรณัง เมตตาดั่งบุตรตัวให้ทั่วไป
มิควรเดียดก็อย่าขึ้งให้ถึงขนาด อย่าร้ายกาจด่าว่าอัชฌาสัย
จงว่ากล่าวฟังสอนอาวรณ์ใจ ไม่ควรใช้เรียกมาชี้ให้ดีเชิง
ใครทำดีควรที่บำเหน็จงาม ยกย่องตามสมัยอย่าให้เหลิง
ถ้าทำชอบให้มอบโดยชอบเชิง อย่าเป็นเพลิงไหม้ป่าพารำคาญ
ข้อสองตรองเทียบกับตัวเรา ถ้าเขาคิดว่าน่าสงสาร
เมื่อมีกิจสิ่งไรจะใช้วาน อย่าหักหาญเกินที่จะดีเอง
จงโลมเล้าเอาใจให้ชื่นจิต ไม่ทันผิดอย่าเพ่อว่าท่าข่มเหง
เห็นหนักนักจึงค่อยยักไปตามเพลง ว่าตัวเองทำไม่ไหวงดไว้ที
ฯลฯ
ข้อสามตามกาลสงกรานต์ตรุษ ควรที่หยุดการลาอย่าเคี่ยวเข็ญ
ปล่อยเล่นบ้างอย่างโบราณท่านว่างเว้น ยอมให้เล่นสมัยแปลกแจกผ้าปี
ฯลฯ
ข้อสี่มีว่าเวลาการ อย่าหักหาญดูสมัยพอให้สม
ฝ่ายนายฝ่ายทาสคาดนิยม ให้ควรชมว่ามีเรือต้องเจือพาย
เช่นกับว่าเสือเกื้อป่าม้าเกื้อรถ ตามกำหนดฉุดลากคุณหลากหลาย
ข้าก็ต้องมีเจ้าบ่าวมีนาย เรือสิ้นพายแล้วก็สิ้นกระบิลกระบวน
อาศัยกันเช่นนี้จงมีสติ จงดำริเห็นใช้ให้สงวน
เขาก็ชนคนเหมือนกันอย่ารัญจวน ใครก่อกวนก็อาภัพยับแก่ตัว
ครั้นสั่งเสร็จเกศกัมบรมนาถ ว่าข้าบาทนี้ต้องเวรเกณฑ์ชั่ว
จึงเกิดเป็นยักษ์มารพาลไม่กลัว รู้สึกตัวขอให้สิ้นมลทินเวร
ฯลฯ
เจ้าลงกานบคำนับแล้วหลับเนตร ก็ล้มเกศดักโศกเกษมศรี
ฯลฯ
อาจารย์คิดลองประดิษฐ์ต่อแต่งหวัง เพื่อได้ฟังอรรถชอบคำตอบถาม
เพื่อประโยชน์แก่ผู้ต้องทำนองความ ใคร่หาความดีใส่ตัวหนีชั่วเชิง
ฯลฯ
เห็นเยี่ยงอย่างแต่ก่อนท่านสอนไว้ จึงคิดใคร่ลองจิตคิดถวิล
พอเป็นที่เทียบความตามระบิล ใครยลยินคำข้าอย่าถือใจ
ฯลฯ